'หลวงปู่มั่น'สอนวิธีสังเกตจิตที่มีนิสัยหลุกหลิกเหมือนถูกไฟ น้ำร้อนลวกไม่อยู่เป็นปกติสุข
วิธีภาวนาก็คือวิธีสังเกตตัวเองนั่นแล คือสังเกตจิตที่มีนิสัยหลุกหลิกเหมือนถูกไฟหรือน้ำร้อนลวก ไม่อยู่เป็นปกติสุข ด้วยสติตามระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของจิต โดยมีธรรมบทใดบทหนึ่งเป็นคำบริกรรม เพื่อเป็นยารักษาจิตให้ทรงตัวอยู่ได้ด้วยความสงบสุขในขณะภาวนา ตามที่นิยมใช้กันมากและได้ผลดีก็มีอานาปานสติบ้าง พุทโธบ้าง ธัมโมบ้าง สังโฆบ้าง มรณานุสสติบ้าง หรือเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ โดยอนุโลม ปฏิโลมบ้าง หรือใช้บริกรรมเฉพาะบทใดบทหนึ่งบ้าง พยายามบังคับใจให้อยู่กับอารมณ์แห่งธรรมบทที่นำมาบริกรรมขณะภาวนา ใจที่อาศัยบทธรรมอันเป็นอารมณ์ที่ให้คุณ ไม่เป็นภัยแก่จิตใจ ย่อมจะเกิดความสงบสุขขึ้นมาในขณะนั้น ที่เรียกว่าจิตสงบ หรือจิตรวมเป็นสมาธิ คือความมั่นคงต่อตัวเอง ไม่อาศัยธรรมบทใด ๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในเวลานั้น เพราะจิตมีกำลังพอดำรงตนอยู่โดยอิสระได้
คำบริกรรมที่เคยนำมากำกับใจ ก็ระงับกันไปชั่วขณะที่จิตปล่อยอารมณ์เข้าพักสงบตัว ต่อเมื่อถอนขึ้นมา ถ้ามีเวลาทำต่อไปอีกก็นำคำบริกรรมที่เคยกำกับมาบริกรรมต่อไป พยายามทำอย่างนี้เสมอด้วยความใฝ่ใจไม่ลดละความเพียร จิตที่เคยทำบาปหาบทุกข์อยู่เสมอก็จะค่อยรู้สึกตัวและปล่อยวางไปเป็นลำดับ และมีความสนใจหนักแน่นในหน้าที่ของตนเป็นประจำ ไม่ถูกบังคับถูไถเหมือนขั้นเริ่มแรก ซึ่งเป็นขั้นกำลังฝึกหัด จิตที่สงบตัวลงเป็นสมาธิ เป็นจิตที่มีความสุขเย็นใจมากและจำไม่ลืม ถ้าได้ปรากฏขึ้นเพียงครั้งเดียว ย่อมเป็นเครื่องปลุกใจให้ตื่นตัวและตื่นใจได้อย่างน่าประหลาด หากไม่ปรากฏอีกในวาระต่อไปทั้งที่ภาวนาอยู่ในใจ จะเกิดความเสียดายอย่างบอกไม่ถูก อารมณ์แห่งความติดใจและความเสียดายในจิตประเภทนั้นจะฝังใจไปนาน นอกจากจิตจะเจริญก้าวหน้าขึ้นสู่ความสงบสุขอันละเอียดไปเป็นลำดับเท่านั้น จิตถึงจะลืมและเพลินในธรรมขั้นสูงเรื่อยไป ไม่มาเกี่ยวข้องเสียดายจิตและความสงบที่เคยผ่านมาแล้ว
แต่เมื่อพูดถึงการภาวนาแล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกเหงาหงอยน้อยใจและอ่อนเปียกไปทั้งร่างกายและจิตใจ ว่าตนมีวาสนาน้อย ทำไม่ไหว เพราะคิดว่ากิจการยุ่งยากทั้งภายในบ้านและนอกบ้านตลอดงานสังคมต่าง ๆ ลูกหลานก็มีหลายคนล้วนแต่ต้องเป็นธุระในการเลี้ยงดู จะมัวมานั่งหลับตาภาวนาอยู่เห็นจะไม่ทันอยู่ทันกินกับโลกเขา ต้องอดตายแน่ ๆ แล้วทำให้เกิดความอิดหนาระอาใจไม่อยากทำ ประโยชน์ที่ควรได้เลยผ่านไป ความคิดเช่นนั้นเป็นความคิดที่เคยฝังนิสัยมาดั้งเดิม และอาจเป็นความคิดที่คอยกีดกันทางเดินเพื่อการระบายคลายทุกข์ทางใจไปเสีย ถ้าไม่พยายามคิดแก้ไขเสียแต่บัดนี้เป็นต้นไป
แท้จริงการภาวนา คือวิธีการแก้ความยุ่งยากและความลำบากทางใจทุกประเภท ที่เคยรับภาระอันหนักหน่วงมานานให้เบาลงและหมดสิ้นไป เหมือนอุบายอื่น ๆ ที่เราเคยนำมาแก้ไขไล่ทุกข์ออกจากตัวเหมือนที่โลกทำกันมานั่นเอง เช่น เวลาร้อนต้องแก้ด้วยวิธีอาบน้ำ เวลาหนาวแก้ด้วยวิธีห่มผ้าหรือผิงไฟ หรือด้วยวิธีอื่น ๆ เวลาหิวกระหายแก้ด้วยวิธีรับประทานและดื่ม เวลาเป็นไข้ก็แก้ด้วยวิธีรับประทานหรือฉีดยาที่จะยังโรคให้สงบและหายไป ซึ่งล้วนเป็นวิธีการที่โลกเคยทำตลอดมาถึงปัจจุบัน โดยไม่มีการผัดเพี้ยนเลื่อนเวลา ว่ายังยุ่งยากยังลำบาก และขัดสนจนใจใด ๆ ทั้งนั้น ทุกชาติชั้นวรรณะจำต้องปฏิบัติกันทั่วโลก แม้แต่สัตว์ก็ยังต้องอาศัยการเยียวยารักษาตัว ดังที่เราเห็นเขาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพื่อผ่อนคลายระบายทุกข์ไปวันหนึ่ง ๆ พอยังชีวิตให้เป็นไปตลอดกาลของเขา ล้วนเป็นวิธีการแก้ไขและรักษาตัวแต่ละอย่าง ๆ
การอบรมใจด้วยภาวนาก็เป็นวิธีหนึ่งแห่งการรักษาตัว วิธีนี้ยิ่งเป็นงานสำคัญที่ควรสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นวิธีที่เกี่ยวกับจิตใจผู้เป็นหัวหน้างานทุกด้านโดยตรง งานอะไรเรื่องอะไรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัว จิตจำต้องเป็นตัวการอย่างแยกไม่ออก ที่จะต้องเข้ารับภาระแบกหามโดยไม่คำนึงถึงความหนักเบา และชนิดของงานว่าเป็นงานชนิดใด จะพอยกไหวไหม แต่จิตต้องเข้ารับภาระทันที ดีหรือชั่วผิดหรือถูกไม่ค่อยสนใจคิด แม้งานหรือเรื่องจะหนักเบาเศร้าโศกเพียงใด ซึ่งบางเรื่องแทบจะคว้าเอาชีวิตไปด้วยในขณะนั้น แม้เช่นนั้นใจยังกล้าเอาตัวเข้าไปเสี่ยงและแบกหามจนได้ โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นจะตายเพราะเหลือบ่ากว่าแรง มิหนำยังหอบเอาเรื่องมาคิดเป็นการบ้านอยู่อีก จนแทบนอนไม่หลับ รับประทานไม่ได้ ก็ยังมีในบางครั้ง คำว่าหนักเกินไปยกไม่ไหว เพราะเกินกว่ากำลังใจจะคิดและต้านทานนั้นเป็นไม่มี มีแต่จะสู้เอาท่าเดียว
งานทางกายยังมีเวลาพักผ่อน และยังรู้ประมาณว่าควรหรือไม่ควรแก่กำลังของตนเพียงใด ส่วนงานทางใจไม่มีวันเวลาได้พักผ่อนเอาเลย จะมีพักอยู่บ้างเล็กน้อยก็ขณะหลับนอนเท่านั้น แม้เช่นนั้นจิตยังอุตส่าห์ทำงานด้วยการละเมอเพ้อฝันต่อไปอีก และไม่รู้จักประมาณว่าเรื่องต่างๆ นั้นควรหรือไม่ควรแก่กำลังของใจเพียงใด เมื่อเกิดเป็นอะไรขึ้นมาก็ทราบแต่เพียงว่าทุกข์เหลือทน แต่ไม่ทราบว่าทุกข์เพราะงานหนักและเรื่องเผ็ดร้อนเหลือกำลังที่ใจจะสู้ไหว จึงควรให้นามว่า “ใจคือนักต่อสู้” เพราะดีก็สู้ ชั่วก็สู้ สู้จนไม่รู้จักหยุดยั้งไตร่ตรอง
อารมณ์ชนิดใดผ่านมาต้องสู้ และสู้แบบรับเหมา ไม่ยอมให้อะไรผ่านหน้าไปได้ จิตเป็นเช่นนี้แลจึงสมนามว่านักต่อสู้ เพราะสู้จนไม่รู้จักตายถ้ายังครองร่างอยู่ และไม่ได้รับการแก้ไข ก็ต้องเป็นนักต่อสู้เรื่อยไปชนิดไม่มีวันปลงวางภาระลงได้ หากปล่อยให้เป็นไปตามชอบของใจที่ไม่รู้ประมาณ โดยไม่มีธรรมเครื่องยับยั้งบ้าง คงไม่มีเวลาได้รับความสุขแม้สมบัติจะมีเป็นก่ายกอง เพราะนั้นมิใช่กองแห่งความสุข แต่กลับเป็นกองส่งเสริมทุกข์สำหรับใจที่ไม่มีเรือนพักคือธรรมภายในใจ
นักปราชญ์ท่านกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า ธรรมแลเป็นเครื่องปกครองทรัพย์สมบัติและปกครองใจ ถ้าใจมีธรรมมากน้อย ผู้นั้นแม้มีทรัพย์สมบัติมากน้อยย่อมจะมีความสุขพอประมาณ ถ้าขาดธรรมเพียงอย่างเดียว ลำพังความอยากของใจ จะพยายามหาทรัพย์ให้ได้กองเท่าภูเขาก็ยังหาความสุขไม่เจอ เพราะนั้นเป็นเพียงเครื่องอาศัยของกายและใจ ผู้ฉลาดหาความสุขใส่ตัวเท่านั้น ถ้าใจไม่ฉลาดด้วยธรรม ไม่มีธรรมในใจเพียงอย่างเดียวจะไปอยู่โลกใดและกองสมบัติใด ก็เป็นเพียงโลกเศษเดนและกองสมบัติเศษเดนอยู่เท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใจเลยแม้นิด ความสมบุกสมบัน ความรับทุกข์ทรมาน ความอดทนและความทนทานต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่าง ๆ ไม่มีอะไรจะแข็งแกร่งเท่าใจ ถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทาง ใจจะกลายเป็นของประเสริฐขึ้นมาให้เจ้าของได้ชมอย่างภูมิใจและอิ่มพอต่อเรื่องทั้งหลายทันที
การใช้งานจิตนับแต่วันเกิดจนบัดนี้ รู้สึกว่าใช้เอาอย่างไม่มีปรานีปราศรัย ถ้าเป็นเครื่องใช้ชนิดต่าง ๆ มีรถราเป็นต้น จะเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ควรพูดถึงการนำเข้าอู่ซ่อม แต่ควรพูดถึงความแหลกยับเยินของรถจนกลายเป็นเศษเหล็กไปนานแล้วจะเหมาะสมกว่า นี่แลทุกสิ่งเมื่อมีการใช้ต้องมีการบูรณะซ่อมแซม มีการเก็บรักษา ถึงจะพอมีทางอำนวยประโยชน์ต่อไป จิตเป็นสมบัติสำคัญมากในตัวเราที่ควรได้รับการเหลียวแล ด้วยวิธีเก็บรักษาเช่นเดียวกับสมบัติทั่วไป วิธีที่ควรแก่จิตโดยเฉพาะก็คือภาวนาวิธีดังที่อธิบายมาบ้างแล้ว ผู้สนใจในความรับผิดชอบต่อจิตอันเป็นสมบัติที่มีค่ายิ่งของตน จึงควรปฏิบัติรักษาจิตด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม คือฝึกหัดภาวนาในโอกาสอันควร เพื่อเป็นการตรวจตราดูเครื่องเคราของรถคือจิต ว่ามีอะไรบกพร่องและเสียไปบ้าง จะได้นำเข้าโรงซ่อมสุขภาพทางจิต
คือนั่งพินิจพิจารณาดูสังขารภายใน คือความคิดปรุงของใจ ว่าคิดอะไรบ้างในวันและเวลาหนึ่ง ๆ พอมีสารประโยชน์บ้างไหม หรือพยายามคิดแส่หาแต่เรื่อง หาแต่โทษ และขนทุกข์มาเผาลนเจ้าของอยู่ทำนองนั้น พอให้รู้ความผิดถูกของตัวบ้าง และพิจารณาสังขารภายนอก คือร่างกายของเรา ว่ามีความเจริญขึ้นหรือเจริญลงในวันและเวลาหนึ่ง ๆ ที่ผ่านไปจนกลายเป็นปีเก่าและปีใหม่ผลัดเปลี่ยนกันไปไม่มีที่สิ้นสุด สังขารร่างกายเรามีอะไรใหม่ขึ้นบ้างไหม หรือมีแต่ความเก่าแก่และคร่ำคร่าชราหลุดลงไปทุกวัน ซึ่งพอจะนอนใจกับเขาละหรือ จึงไม่พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาที่พอทำได้ เวลาตายแล้วจะเสียการ นี่คือการภาวนา การภาวนาคือวิธีเตือนตนสั่งสอนตน ตรวจตราดูความบกพร่องของตนว่าควรจะแก้ไขจุดใดตรงไหนบ้าง
ผู้ใช้ความพิจารณาอยู่ทำนองนี้เรื่อย ๆ ด้วยวิธีสมาธิภาวนาบ้าง ด้วยการรำพึงในอิริยาบถต่าง ๆ บ้าง ใจจะสงบเยือกเย็น ไม่ลำพองผยองตัวและคว้าทุกข์มาเผาลนตัวเอง เป็นผู้รู้จักประมาณ ทั้งหน้าที่การงานที่พอเหมาะพอดีแก่ตัว ทั้งทางกายและทางใจ ไม่ลืมตัวมั่วสุมในสิ่งที่เป็นหายนะต่าง ๆ
คุณสมบัติของผู้ภาวนานี้มีมากมายไม่อาจพรรณนาให้จบสิ้นลงได้ แต่ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมิได้อธิบายลึกซึ้งมากไปกว่าฐานะของฆราวาสที่มารับการอบรม ผิดกับท่านอธิบายให้พระเณรฟังอยู่มาก เท่าที่เขียนตามท่านอธิบายไว้พอหอมปากหอมคอนี้ ก็ยังอาจมีบทที่รู้สึกว่าเปรี้ยวจัดเค็มจัดแฝงอยู่บ้างตามทรรศนะของนานาจิตตัง จะให้เป็นแบบเดียวกันย่อมไม่ได้
เท่าที่ได้พยายามตะเกียกตะกายนำมาลง ก็เพื่อท่านผู้อ่านได้ช่วยติชมพอเป็นยาอายุวัฒนะ ผิดถูกประการใดโปรดได้ตำหนิผู้นำมาเขียน กรุณาอย่าได้สนใจกับท่านผู้เป็นเจ้าของประวัติ เพราะท่านมิได้มีส่วนรู้เห็นด้วย เวลาแสดงธรรมขั้นสูงท่านก็แสดงเป็นการภายในเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเท่านั้น แต่ผู้เขียนคะนองไปเอง ใจและมือไม่อยู่เป็นสุข ไปเที่ยวซอกแซกบันทึกเอาจากปากคำของพระอาจารย์ทั้งหลายที่เป็นลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งเคยอยู่กับท่านมาเป็นคราว ๆ ในสมัยนั้น ๆ แล้วนำมาลงเพื่อท่านผู้อ่านได้ทราบปฏิปทาการดำเนินของท่านบ้างแม้ไม่สมบูรณ์ เพราะปฏิปทาท่านปรากฏว่าเด็ดเดี่ยวอาจหาญมาก แทบจะพูดได้ว่าไม่มีท่านผู้ใดบรรดาลูกศิษย์ที่เคยพึ่งร่มเงาแห่งบารมีท่านมา จะสามารถปฏิบัติเด็ดเดี่ยวต่อธุดงควัตรและจริยธรรมทั้งหลายอย่างสม่ำเสมอเหมือนท่าน สำหรับองค์ท่าน ทั้งข้อปฏิบัติ ทั้งความรู้ภายในใจ นับว่าเป็นเยี่ยมในสมัยปัจจุบัน ยากจะหาผู้เสมอเหมือนได้
.......................................
คัดลอกจากประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ตอนที่ ๑ โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี