'มหาเถร'มีมติดัน สมเด็จช่วง ขึ้นเป็น-สังฆราช

แอบประชุมลับตั้งแต่5ม.ค. สมเด็จ2วัดอาพาธไม่เข้าร่วม ตู่ยํ้าแก้ปัญหาไม่ได้ไม่เสนอ

รองโฆษกสำนักพุทธฯ แถลงผลประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) 11 ม.ค. ไม่มีวาระการเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ในวาระปกติ แต่ยอมรับ มส.นัดประชุมวาระลับพิเศษไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ม.ค. แต่ไม่ทราบว่าเรื่องอะไร ขณะที่ฝ่ายหนุน-ฝ่ายต้าน ต่างเข้ายื่นหนังสือ โดย “สนพ.” ยื่น หนังสือต่อ ผอ.สำนักพุทธฯขอให้ทำตามกฎหมายคณะสงฆ์ ส่วน “พุทธอิสระ” ยื่น 3 แสนชื่อค้านตั้ง “สมเด็จช่วง” เป็นสังฆราช ที่ทำเนียบรัฐบาล ขณะที่ นายกฯย้ำศึกผ้าเหลืองไม่จบ ทูลเกล้าฯชื่อพระสังฆราชไม่ได้

ความคืบหน้าการเสนอชื่อสมเด็จพระราชคณะ เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ว่า ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม มีการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ที่มีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานการประชุม โดยมีสื่อมวลชนมารอทำข่าวการประชุม มส.เป็นจำนวนมาก และทหารจากกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) จำนวน 10 นาย มาคอยดูแลความเรียบร้อย

ทั้งนี้ ก่อนการประชุมฯ นายเสถียร วิพรมหา นายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) ได้มายื่นหนังสือต่อนายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ในฐานะเลขาธิการ มส. เพื่อขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 หมวดสมเด็จพระสังฆราช มาตรา 7 ในการเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยนายเสถียร กล่าวว่า อยากขอให้ทุกฝ่ายยึดหลักตามกฎหมายการปกครองคณะสงฆ์ ทาง สนพ.ไม่อยากเห็นความแตกแยกขึ้นในคณะสงฆ์ ความเห็นต่างเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อ มส.ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ก็ไม่ควรที่จะเข้าไปก้าวก่าย สำหรับกลุ่มที่เรียกร้องให้มีการชะลอเรื่องดังกล่าว โดยอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้วนำมาสร้างสถานการณ์นั้น เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และเป็นการล่วงเกิน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ขาดความยำเกรงต่อพระเถระผู้ใหญ่ จึงอยากขอให้ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ในฐานะเลขาธิการ มส.ยึดข้อกฎหมายในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสับสน และเพื่อป้องกันความขัดแย้งแตกแยกของสังคม

ภายหลังการประชุมประมาณ 40 นาที นายประดับ โพธิกาญจนวัตร รองโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในการประชุม มส.ครั้งนี้ไม่มีการหารือในเรื่องการเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อทูลเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ทั้งยังไม่มีการพูดถึงกลุ่มที่ออกมาต่อต้าน อย่างไรก็ตาม ทราบว่า มส.มีการนัดประชุมวาระลับพิเศษไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 ม.ค. แต่ไม่ทราบว่าเป็นการประชุมเรื่องใด

ขณะที่นายชยพล พงษ์สีดา รอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า หาก มส.มีการหารือในประเด็นดังกล่าวโดยหยิบยกขึ้นมาหารือเป็นวาระพิเศษ คณะกรรมการ มส.ทั้ง 20 รูปจะพิจารณาโดยยึดตามจารีตประเพณีและตามกฎหมายการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งขณะนี้สมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ และตามกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันกำหนดให้เสนอเพียงรูปเดียว ก็เชื่อว่าหาก มส. มีการประชุมพิจารณาก็คงเลือกและเสนอเพียงรูปเดียวตามข้อกฎหมาย ส่วนที่มีผู้คัดค้านให้ชะลอการเสนอแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่นั้น เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ในเมื่อ มส.เป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย หากมีมติคัดเลือกสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ที่เห็นว่าเหมาะสมตามจารีตประเพณีและกฎหมายคณะสงฆ์ ก็ควรเคารพในการตัดสินใจของ มส. หากไม่ยอมรับ มส.แล้วจะยอมรับใครได้อีก

สำหรับการประชุมวาระลับพิเศษของ มส.เมื่อวันที่ 5 ม.ค.นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเป็นการเรียกประชุมลับเฉพาะกรรมการ มส. โดยสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์อาพาธไม่ได้ไปประชุมด้วย และที่ประชุมมีมติเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แล้ว โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 เพียงรูปเดียว

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พบว่า สมเด็จพระราชาคณะในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 8 รูป แบ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย 4 รูป สมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุต 4 รูป โดยสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ในขณะนี้ได้แก่อันดับ 1 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (มหานิกาย) ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ปี 2538 อันดับ 2 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) วัดสัมพันธวงศาราม (ธรรมยุต) ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ปี 2544 อันดับ 3 สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (ธรรมยุต) ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะปี 2552 อันดับ 4 สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พรหมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร (ธรรมยุต) ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะปี 2552 แต่อาวุโสน้อยกว่าสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ อันดับ 5 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) วัดสุทัศนเทพวราราม (มหานิกาย) ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ปี 2553 อันดับ 6 สมเด็จพระธีรญาณ-มุนี (สมชาย วรชาโย) วัดเทพศิรินทราวาส (ธรรมยุต) ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ปี 2553 แต่อาวุโสน้อยกว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อันดับ 7 สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) วัดพิชยญาติการาม (มหานิกาย) ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ปี 2554 และอันดับ 8 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) วัดไตรมิตรวิทยาราม (มหานิกาย) ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ปี 2557

 

ขณะที่เมื่อช่วงสายวันเดียวกัน ที่ศูนย์บริการประชาชน (ฝั่ง ก.พ.) พระพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย พร้อมลูกศิษย์ เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชน 3 แสนรายชื่อ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ หัวหน้าคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือ

ทั้งนี้ พระพุทธอิสระกล่าวว่า ขอเรียกร้องให้นายกฯ ใช้อำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ คัดสรรพระเถระผู้ทรงธรรม ทรงวินัย มีพระจริยวัตรงดงาม เป็นที่ยอมรับและเลื่อมใสนำขึ้นทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 พร้อมกับกล่าวถึงการคัดค้านการเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากมีพฤติกรรมละเลย ละเว้น ละเมิดพระธรรมวินัย ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง พร้อมยกกรณีการละเว้นไม่ดำเนินการเอา ผิดกับเจ้าอาวาสวัดธรรมกาย และยังกล่าวด้วยว่าครั้งนี้ถือจะเป็นการยื่นครั้งสุดท้าย จากนี้ไปจะยื่นฟ้องตามมาตรา 157 ต่อไป เนื่องจากหลักฐานนั้นครบถ้วนหมดแล้ว รวมทั้งการละเมิดสถาบัน มาตรา 112 ที่มีการแอบอ้างเบื้องสูงหาช่องทางใช้ประโยชน์ ซึ่งจากนี้จะเป็นการฟ้องแพ่งและอาญาต่อไป

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณีพระพุทธอิสระ มายื่นหนังสือพร้อมกับรายชื่อประชาชน 3 แสนรายชื่อ คัดค้านการเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ เป็นสมเด็จพระสังฆราชการองค์ที่ 20 ว่า “ผมบอกแล้วว่าให้ไปแก้กันให้ได้ ถ้าแก้ไม่ได้ผมก็เสนอชื่อให้ไม่ได้”

จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่าไม่น่าจะมีอะไรบานปลาย และนายกรัฐมนตรีไม่ได้เลือกข้างอย่างที่วิจารณ์กัน ใครเป็นนายกฯ ก็ต้องตอบอย่างเดียวกันว่า เมื่อส่งมาต้องตรวจสอบ แต่ไม่ใช่ตรวจสอบเพื่อตีกลับ หรือรับมาแล้วเก็บไว้หรือส่งต่อเลย ต้องพิจารณาก่อนนำความกราบขึ้นบังคมทูล เพื่อไม่นำสิ่งที่ระคายเบื้องพระยุคลบาทขึ้นกราบบังคมทูล และขณะนี้ ชื่อยังไม่ได้ส่งมาจากมหาเถรสมาคมเลย การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องอาศัยกฎหมายและโบราณประเพณี ถ้ามาคุ้ยแคะจะกระทบต่อความศรัทธาของอีกฝ่ายหนึ่ง กลายเป็นชนวนความแตกแยกได้ ต้องระวังการออกความคิดเห็น เพราะถ้าวันหนึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่ออกแรงกันอยู่ ก็จะเกิดปัญหาขึ้น แต่หากยังไม่สามารถแต่งตั้งได้ ก็ต้องใช้วิธีรักษาการไปก่อนเหมือนที่เคยปฏิบัติมา แต่คงไม่ใช่ให้รักษาการเป็นสิบๆปี ต้องดูความเหมาะสมด้วย

วันเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกล ทางยูทูปถึงกรณีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ว่า คณะสงฆ์ในประเทศไทยมี 2 นิกายคือ ธรรมยุต และมหานิกาย ทั้งสองนิกายปฏิบัติหน้าที่ตามหลักศาสนาร่วมกันอย่างมีความสุข แต่ขณะนี้พุทธะอิสระกับพวกพยายามบงการการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ดังนั้น นายกฯจะฟังพระอาจารย์ทางจิตวิญญาณมากกว่าประชาชนและมหาเถรสมาคมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การปรากฏภาพถ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ และแกนนำ คสช. คุกเข่าต่อหน้าพุทธะอิสระย่อมอธิบายได้ชัดเจนถึงการไม่กล้าจัดการกับพุทธะอิสระ ซึ่งขณะนี้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุด จึงเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายคณะสงฆ์ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ แต่พุทธะอิสระ
กับพวกกล่าวหาสมเด็จช่วงว่าเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระธัมมชโย ซึ่งถูกกล่าวหาในคดีความมากมาย จึงไม่เหมาะสมเป็นสมเด็จพระสังฆราช ดังนั้น ถ้าให้ฝ่ายอาณาจักรแทรกแซงศาสนาจะเกิดการต่อต้านครั้งใหญ่ วันนี้ไม่ใช่เรื่องมหานิกายหรือธรรมยุต แต่เป็นเรื่องการยึดกฎหมายคณะสงฆ์ หรือการยืนข้างพุทธะอิสระ

จากนั้นช่วงเย็นวันเดียวกัน นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดงานสมโภช พระอาราม 188 ปี วัดประยุรวงศาวาส ถึงกรณีที่มส. มีการประชุมวาระพิเศษ พิจารณารายชื่อสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อทูลเกล้าฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช ไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น โดยนายสุวพันธ์ กล่าวเพียงสั้นๆว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาฯยังไม่มีการเสนอรายชื่อใดมาที่ตนเลย

ที่มา ไทยรัฐ

อ่านต่อ


Total View: 533
Post Date: 12 Jan 2016


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ การเข้าชมเว็บไซต์นี้ต่อไปถือว่าท่านยอมรับคุกกี้บนเว็บไซต์และ  นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งหมดที่ระบุไว้