สงฆ์ล่า2หมื่นชื่อบี้-ผู้ตรวจ จ่อยื่นถอดถอน มส.ยืนมติเดิม ชื่อสมเด็จช่วง

องค์กรพุทธเตรียมล่า 2 หมื่นชื่อถอดถอนผู้ตรวจฯ หลังมีมติให้นายกฯเป็น ผู้เสนอชื่อสังฆราช ขณะที่มหาเถรฯยืนยันไม่มีประชุมใหม่แน่ ยันมติเสนอชื่อสมเด็จช่วง เป็นที่สุดแล้ว ขณะที่เพไทยสงสัย ผู้ตรวจฯมีหน้าที่ตีความทางกฎหมายตั้งแต่เมื่อไร ยันมติมหาเถรฯเป็นเอกฉันท์ของพระสงฆ์ 2 นิกาย แนะรัฐบาลดำเนินการตามกฎหมายไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ด้านจตุพร ชี้หากรัฐบาลยึดตามแนวผู้ตรวจฯ อาจส่งให้เกิดวิกฤต แทรกแซงศาสนจักร ด้านสุวพันธุ์ ระบุต้องรอคำสั่งนายกฯให้ดำเนินการอย่างไร 

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นายสมชาย สุรชาตรี โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงกรณีที่เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินออกมาชี้ถึงขั้นตอนการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ตามมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ที่ระบุว่า "พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมาเถรสมาคม (มส.) เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช" โดยต้นเรื่องที่หยิบยกการเสนอนามต้องมาจากนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่มหาเถรฯ และขั้นตอนที่มหาเถรฯ ดำเนินการมาทั้งหมดในเรื่องดังกล่าวผิดขั้นตอนว่า ตนขอชี้แจงว่า มติของมหาเถรฯ วันที่ 5 ม.ค. 2559 ที่เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ ตามมาตรา 7 มีมติเป็นเอกฉันท์ เสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ หากต้นเรื่องผู้เสนอนามอยู่ที่นายกฯ นายกฯ ก็ต้องทำตามมาตรา 7 อยู่ดี คือเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์มาให้มหาเถรฯ พิจารณา

เมื่อถามว่าการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินออกมาตีความกฎหมายและชี้ว่ามหาเถรฯ ทำผิดขั้นตอนสามารถทำได้หรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า ทำได้ แต่เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลแล้วว่าจะตีกลับมติมหาเถรฯ มาที่สำนักพุทธฯ หรือไม่ หรือจะนำเรื่องดังกล่าวไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความกฎหมายในมาตรา 7 ว่าใครเป็นต้นเรื่องกันแน่ แต่จะให้มหาเถรฯ ยกเลิกมติดังกล่าวและประชุมเสนอนามใหม่ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อมหาเถรฯ มีมติไปแล้ว ไม่สามารถยกเลิกมติได้ เว้นเสียแต่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่เป็นผู้ถูกเสนอนาม จะออกมาบอกว่าไม่ขอรับตำแหน่งแล้ว มหาเถรฯ ถึงจะมีการประชุมเพื่อเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปใหม่ 

"เรื่องดังกล่าวแม้ว่าหน่วยงานใดจะเป็นต้นเรื่อง สุดท้ายต้องเสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ตามมาตรา 7 อยู่ดี แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ เป็นการยืดเวลาในการเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชออกไปเท่านั้นเอง" นายสมชายกล่าวและว่า ส่วนกรณีที่พระสุวิทย์ ธีรธัมโม หรือพระพุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม มายื่นหนังสือที่สำนักพุทธฯ เพื่อกล่าวโทษตนเองเพราะมีผู้โจทก์ร้องท่านในข้อหาอาบัติปาราชิกนั้น ในฐานะที่สำนักพุทธฯ เป็นผู้สนองงานของคณะสงฆ์ จะศึกษาข้อมูลเเละส่งเรื่องดังกล่าวไปให้เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการที่เรียกว่านิคหกรรมมาตรวจสอบพระพุทธะอิสระ และกรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีพระสงฆ์มาร้องเพื่อกล่าวโทษตนเอง"

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลรับผลวินิจฉัยจากผู้ตรวจการแผ่นดินไปแล้ว ต้องส่งผลวินิจฉัยไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา คาดว่าการพิจารณาในข้อกฎหมายจะต้องสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินแน่นอน แม้มีผู้มองว่าตามมาตรา 7 ผู้ที่ถูกเสนอนามต้องเป็นสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ แต่รัฐบาลต้องพิจารณาว่าท่านจะปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ ต้องหารือกันอีกนานและต้องชะลอการเสนอนามขึ้นทูลเกล้าฯออกไปก่อน หรืออีกนัยถ้าสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ออกมาแสดงความประสงค์ว่าไม่ขอรับตำแหน่งเรื่องทุกอย่างก็จบ 

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงมติผู้ตรวจฯ ว่า เป็นความรู้ใหม่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถทำหน้าที่วินิจฉัยกฎหมายและตีความกฎหมายได้ ไม่ทราบว่ารัฐบาลจะรับฟังหรือไม่ ก่อนหน้านั้นเคยให้ความเห็นประเด็นเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช โดยเปรียบเทียบเหมือนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีว่าผู้มีหน้าที่นำความขึ้นกราบบังคมทูลไม่อาจประวิงเวลาได้ ในการประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช เป็นการประชุมของพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่สองนิกาย คือ มหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายเป็นประธานที่ประชุม เมื่อถึงวาระการพิจารณาแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ปรากฏว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ออกจากห้องประชุมเนื่องจากมีส่วนได้เสีย และผู้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมแทน คือ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธ พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต และผู้ที่เสนอสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายเป็นสมเด็จพระสังฆราช คือ สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศฯ พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต เช่นเดียวกับผู้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ผลการลงมติที่ประชุมเลือกสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เป็นสมเด็จพระสังฆราช ด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ 17 เสียง

นายชวลิตกล่าวว่า เห็นได้ว่าที่ประชุมมหาเถรสมาคม ประกอบด้วยพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ทั้งฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุต ต่างเข้าใจประเพณีปฏิบัติเข้าใจและรักษากฎหมายคณะสงฆ์ ทั้งยังปรองดอง สามัคคี เป็นอย่างดี จนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชในฝ่ายคณะสงฆ์ ซึ่งอาศัยองค์กรมหาเถรสมาคมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นวัตรปฏิบัติที่งดงาม ดังนั้นฆราวาส ควรดูเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะรัฐบาลควรเป็นตัวอย่างในการดำเนินการตามกฎหมายคณะสงฆ์ และสร้างความปรองดอง ความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวพุทธ การจะมีผู้ที่มีความเห็นแตกต่างบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ระหว่างองค์กรตามกฎหมายคณะสงฆ์ คือ มหาเถรสมาคม และรัฐบาล ควรร่วมมือเกื้อกูลกัน ให้เกิดความสงบร่มเย็น ดังเช่นที่เป็นมาแต่อดีตกาล หากรัฐบาลไม่ฟัง ไม่เชื่อมั่นในมติมหาเถรสมาคม ซึ่งประกอบด้วยพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองนิกายดังกล่าวข้างต้น แต่ไปฟังนายไพบูลย์ ซึ่งผ่านเวทีทางโลกมามาก ก็คาดการณ์ไม่ถูกว่าบ้านเมืองวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และภาวนาให้ปัญหาการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชยุติลง โดยยึดหลักกฎหมายและประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกลว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจวินิจฉัยการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ การมาตีความมาตรา 7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 จึงมีเจตนาแทรกแซงศาสนจักรให้เกิดปัญหาวิกฤตขึ้น การวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ระบุว่า มติมหาเถรสมาคม (มส.) เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ถือเป็นการกระทำผิดขั้นตอนของกฎหมายนั้น จึงเข้าข่ายไม่ถูกต้อง การตีความของผู้ตรวจการแผ่นดินว่าขั้นตอนเริ่มต้นนายกรัฐมนตรีต้องเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะไปให้ มส.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ไม่ใช่ให้ มส.ประชุมแล้วเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชให้นายกฯ นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อสถาปนาแต่งตั้ง 

"การตีความของผู้ตรวจการแผ่นดิน จะเป็นจุดชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งในพุทธศาสนา นายศรีราชา เจริญพานิช เป็นใคร จึงมาแทรกแซงศาสนจักร เอากฎหมายใดมาหลอกด่าสมเด็จช่วง เกมนี้จะออกมาอย่างใด ผลลัพธ์ไม่เปลี่ยนเลย การตีความโดยอ้างพจนานุกรมเป็นการกล่าวอ้างที่มั่วที่สุด และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พูดได้เข้าหูที่สุด โดยยืนยัน มส.ทำตามขั้นตอน และไม่สนใจการตีความทักท้วงผิดขั้นตอนของผู้ตรวจการแผ่นดิน" นายจตุพรกล่าว 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 ว่าขั้นตอนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชไม่ถูกต้องว่า ทราบจากข่าว แต่ยังไม่เห็นหนังสือของผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงต้องรอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. หรือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะมอบหมายให้ตนดำเนินการอะไรหรือไม่ ส่วนขั้นตอนการปฏิบัตินั้นมีอยู่แล้ว และที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีก็ไม่เคยมีคำถามในเรื่องนี้ 

"อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพระพุทธศาสนา จะเคลื่อนไหวหรือกระทำสิ่งใดต่อไป ควรยึดหลักพรหมวิหาร ใช้ความจริง ใช้เหตุผลและความหวังดีต่อพระพุทธศาสนาในการดำเนินการ ไม่เช่นนั้นพระพุทธศาสนาจะถูกบั่นทอนความเข้มแข็งลงไปเรื่อยๆ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะก็ไม่มีประโยชน์ ในเมื่อพระพุทธศาสนาของเราอ่อนแอลง" นายสุวพันธุ์กล่าว

พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จันทสาโร) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ศพศ.) เปิดเผยว่า ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย, สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) และภาคีเครือข่าย องค์กรพุทธฯ ไม่เห็นด้วยต่อการแถลงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่สมควรได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ตามมติมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ไปยังนายกรัฐมนตรี ด้วยการอ้างว่าไม่เป็นไปตามขั้นตอนตามบทบัญญัติของกฎหมาย มาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณ ก็ไม่เคยให้นายกฯ หรือผู้นำประเทศเป็นคนนำเสนอชื่อส่งไปให้มหาเถรฯ พิจารณาแต่อย่างใด ดังนั้น องค์กรพุทธฯ จะแถลงข่าวถึงท่าทีขององค์กรพุทธฯ ที่มีต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมทั้งออกแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าว รวมทั้งอาจดำเนินการรวบรวมรายชื่อพระสงฆ์จำนวนมาก เพื่อยื่นถอดถอนผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบในการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 7 มี.ค. เวลา 10.00 น. ส่วนสถานที่จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ยืนยันว่า สำนักพุทธฯ และมหาเถรฯ ดำเนินการตามกฎหมายและจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติมา ซึ่งขณะนี้ทางฝ่ายรัฐบาลและผู้ตรวจการแผ่นดินก็ยังไม่ได้แจ้งอะไรเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวกลับมายังสำนักพุทธฯ ดังนั้น สำนักพุทธฯ ก็คงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง

นายจำนงค์ สวมประคำ อดีตเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะตรวจสอบเรื่องใดที่หน่วยราชการหรือผู้มีคำสั่งใดที่มีผู้อ้างว่าคำสั่งใดไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องมีผู้ร้องเรียนและผู้ร้องเรียนนั้นต้องเป็นผู้เสียหายเพราะคำสั่งนั้น ซึ่งควรจะเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เพราะสมเด็จพระราชาคณะในที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) นั้น อาจจะมีส่วนได้เสียในการได้เสนอชื่อเป็นลำดับต่อไปเสียด้วยซ้ำ ที่สำคัญการเสนอก็ไม่มีการโต้แย้งทักท้วงว่าชื่อไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด โดยผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างว่ามีผู้ร้องเรียนจึงพิจารณาเรื่องนี้ทั้งๆที่ผู้ร้องเรียนนั้นอาจจะไม่ใช่ผู้เสียหาย ที่สำคัญตามอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจชี้ขาดว่าคำสั่งใดผิดคำสั่งใดถูก แต่มีอำนาจเพียงแค่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์แล้ว เมื่อเห็นว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายก็มีหน้าที่เพียงส่งเรื่องให้หน่วยงานนั้นพิจารณาและแก้ไขใหม่เท่านั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจชี้ขาดว่าการดำเนินการใดผิดหรือถูก

นายเมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ เลขาธิการสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) กล่าวว่า องค์กรพุทธฯ เตรียมแถลงข่าวถึงท่าทีขององค์กรพุทธฯ ที่มีต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีความบกพร่องด้านจริยธรรมและความบกพร่องในหน้าที่การวินิจฉัยในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ โดยจะแถลงถึงข้อมูลความผิดพลาดต่างๆ ของผู้ตรวจการฯ อย่างละเอียด พร้อมทั้งเตรียมรวบรวมรายชื่อพระภิกษุและฆราวาส จำนวน 20,000 รูป/คน เพื่อยื่นถอดถอนผู้ตรวจการแผ่นดินในกรณีการวินิจฉัยมาตรา 7 ในพ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ส่งไปให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ซึ่งทำหน้าที่เสมือนวุฒิสภา ให้ดำเนินการถอดถอนผู้ตรวจการแผ่นดิน อย่างไรก็ตามทางองค์กรพุทธฯ ร่วมกันแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 7 มี.ค. เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมเอสดี อเวนิว

"การแถลงข่าวครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยเฉพาะการก้าวล่วงเกี่ยวกับกิจการคณะสงฆ์โดยมิชอบ ซึ่งองค์กรพุทธฯ ต้องการชี้ความผิดพลาดของผู้ตรวจการแผ่นดินเท่านั้น" เลขาธิการ สนพ. กล่าว

ที่มา ข่าวสด

อ่านต่อ


Total View: 188
Post Date: 06 Mar 2016


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ การเข้าชมเว็บไซต์นี้ต่อไปถือว่าท่านยอมรับคุกกี้บนเว็บไซต์และ  นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งหมดที่ระบุไว้