กิจกรรมที่พึงปฏิบัติในวันพระ (วันธรรมสวนะ) ในวันธรรมสวนะนี้ ชาวบ้านก็จะพละเว้นการประพฤติกิจที่เป็นบาปต่าง ๆ การสมาทานศีลในวันนี้ เช่น รับศีล ๕ หรือ ศีล ๘ ซึ่งเรียกว่า อุโบสถศีล พระสงฆ์จะได้แสดงพระธรรมเทศนา หรือ ธรรมสากัจฉา หรือ สนทนาธรรมกัน ซึ่งนับว่าเกิดเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่งเพราะความมุ่งหมายและเหตุผลมีเช่นนี้ การประชุมฟังธรรมในวันธรรมสวนะจึงมีพิธีกรรมที่ต้องปฏิบัติเกิดขึ้น
โดยนิยมเป็นระเบียบปฏิบัติซึ่งเรียกกันว่าขั้นตอนพิธีกรรมดังต่อไปนี้
1.ทำบุญตักบาตร ถือศีล ปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
2.ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด งดการเที่ยวเตร่ ละเว้นอบายมุข ละเว้นการฆ่าสัตว์และบริโภคเนื้อสัตว์ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา
3.ศึกษาข้อธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
5.ประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา
ข้อปฏิบัติในการฟังธรรม สนทนาธรรม
1.ควรมีศรัทธาในตัวผู้แสดงธรรม การฟังโดยที่ไม่เชื่อในคุณงามความดี และความรู้ของผู้แสดงธรรมนั้น จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร เพราะเราจะไม่เชื่อสิ่งที่ท่านพูด
2.ไม่ดูหมิ่นธรรมที่ท่านแสดง คือไม่มีอคติ ไม่ด่วนปลงใจว่าธรรมที่ท่านแสดงนั้นไร้ค่าก่อนที่จะฟังจนจบ การแสดงธรรมบางเรื่องนั้น การฟังแต่ตอนต้นๆนิดเดียวอาจจับความไม่ติด ต้องฟังให้จบเสียก่อนจึงจะเข้าใจและเห็นจริง
3.ฟังด้วยความตั้งใจ ไม่คุยกันไม่แสดงกิริยาที่เย่อหยิ่งหรือเยาะเย้ย ไม่แสดงสีหน้าเบื่อหน่าย ควรฟังด้วยความพินิจพิเคราะห์ ฟังไปคิดตามไป ส่วนใดที่สงสัยเก็บไว้ถามภายหลัง ควรให้เกียรติแก่ผู้แสดงธรรมด้วย
4.นำเอาหลักธรรมไปปฏิบัติ เราฟังธรรมก็เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิต ควรใช้ปัญญาไตร่ตรองสิ่งที่ได้ฟังมา แล้วนำไปประยุกต์กับเรื่องของเรา หลักธรรมข้อเดียวกันแต่ละคนอาจนำไปใช้แก้ปัญหาของตนก็ได้
คุณประโยชน์ของการฟังธรรม พระพุทธองค์ทรงแสดงผลของการฟังธรรมไว้ดังนี้
1.ได้ความรู้เพิ่มเติม ผู้แสดงธรรมนั้นมักจะเป็นคนที่ได้ศึกษาและมีประสบการณ์มามาก การฟังธรรมทำให้เราได้ความรู้ใหม่ๆ ได้ข้อคิดใหม่ๆ อันจะเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต
2.เป็นการทบทวนความรู้ ในกรณีที่ข้อธรรมที่แสดงนั้นมิใช้ของใหม่สำหรับเรา เป็นสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว ก็เป็นการทบทวนของเก่า บางทีอาจมีแง่มุมเพิ่มเติมของเก่าบ้างก็ได้
3.เป็นการคลายความสงสัย บางครั้งเราอาจเกิดความสงสัยได้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรผิดอะไรถูก เพราะของบางอย่างมองได้หลายแง่ การได้ฟังธรรมอยู่เสมอจะช่วยปลดเปลื้องความสงสัย
4.เป็นการปรับความคิดให้ตรง ธรรมบางเรื่องมีความลึกซึ้งและสลับซับซ้อน คนอาจเข้าใจไขว้เขวไปจากความจริงก็ได้ การฟังธรรมเสมอๆ จะช่วยให้เราเห็นตรงกับความเป็นจริง
5.เป็นการฝึกอบรมจิต การฟังธรรมต้องใช้สมาธิ ต้องนั่งนิ่ง ต้องอยู่ในท่าทีแสดงความเคารพ การฟังธรรมเสมอจะช่วยทำให้จิตใจของเราอ่อนโยน สงบ และคิดทำในสิ่งที่ดี
ทีมา : wantamboon.wordpress.com