“สมเด็จช่วง” เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ขออย่าหยุดโครงการหมู่บ้านศีล 5 เพื่อ 'ในหลวง ร.9' เพื่อช่วยเหลือประชาชน-ประเทศชาติ แนะตั้งอนุกรรมการประจำจังหวัด ทำควบคู่กับหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล
เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร มีการประชุมร่วมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ส่วนกลาง และประจำหน โดยพระพรหมเสนาบดี เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาฯ เจ้าคณะภาค 7 ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ หมู่บ้านรักษาศีล 5 กล่าวเปิดการประชุม ว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้มอบสารมาแถลงต่อที่ประชุม ว่า ขออนุโมทนากรรมการทุกระดับที่รับภาระหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง อดทน เสียสละ รวมทั้งขอความเห็นที่ประชุมว่า เห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ตั้งอนุกรรมการประจำจังหวัด ทุกจังหวัด จังหวัดละ 7 ท่าน ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ โดยมีเจ้าคณะจังหวัดเป็นประธาน ถ้าจังหวัดนั้นมีเจ้าคณะจังหวัดธรรมยุตอยู่ด้วย ให้เป็นรองประธาน 1 รูป ให้มีเลขานุการ 1 ท่าน ถ้าไม่มีเจ้าคณะธรรมยุต ให้รองเจ้าคณะจังหวัดเป็นรองประธาน 1 รูป ร่วมขับเคลื่อนงานศีล 5 และทำควบคู่กับหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสังคมประเทศชาติ ขอให้อย่าหยุดโครงการนี้ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และขอให้เข้าถึงประชาชน ช่วยเหลือประชาชน เป็นกำลังของประชาชนต่อไป
พระพรหมกวี เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร เจ้าคณะภาค 13 ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ประจำหนกลาง กล่าวว่า หลักการดำเนินการโครงการหมู่บ้านศีล 5 ในคณะสงฆ์หนกลาง จะเน้นด้านศึกษาสงเคราะห์ ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา เชื่อมโยงกับ โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยก่อนที่จะมีพิธีรับทุน ก็จะให้นักเรียน นักศึกษา มาถือศีล ปฏิบัติธรรม เป็นเวลา 3 วัน เรียนรู้การรักษาศีล 5 ก่อนจะมีพิธีรับทุนการศึกษา นอกจากนี้กำลังดำเนินการคัดเลือก หมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ ระดับอำเภอ อำเภอละ 1 หมู่บ้าน โดยจังหวัดที่เข้มแข็งขณะนี้ คือ อยุธยาและอุทัยธานี ที่มีหมู่บ้านต้นแบบครบทุกอำเภอแล้ว
ด้านพระเทพเสนาบดี เจ้าคณะ จ.ลพบุรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ กล่าวว่า การขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 ระยะที่ 3 เชิงคุณภาพ ปี 2559-2560 เน้นให้ทุกจังหวัดคัดเลือกหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบที่ทำได้จริง ภายในเดือนต.ค.2560 เพื่อรวบรวมเสนอมหาเถรสมาคม (มส.) และนำเสนอผลงานต่อรัฐบาล อีกทั้งขอให้มีการรายงานผลงาน และเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย ที่สำคัญการทำงานหมู่บ้านรักษาศีล 5 ควรเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์หมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/791721