เปิดตำนานชาวอีสาน "นกหัสดีลิงค์" สถานที่ฌาปนกิจ "หลวงพ่อคูณ"

เปิดตำนานชาวอีสาน "นกหัสดีลิงค์" สถานที่ฌาปนกิจ "หลวงพ่อคูณ"

เนื่องด้วยในวันที่ 29 มกราคม 2562 จะมีพิธีพระราชทานเพลิง "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ" อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ จะมีพิธีฌาปนกิจที่เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ไทย ด้วยการจัดสร้างเมรุลอยนกหัสดีลิงค์ส่งดวงวิญญาณสู่สรวงสวรรค์

 

วันนี้ ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ จะพาคุณไปรู้จักกับตำนาน "นกหัสดีลิงค์" อย่างละเอียดกัน...

1. นกหัสดีลิงค์ คืออะไร?

ตามตำนาน นกหัสดีลิงค์ถูกระบุไว้ว่าเป็นนกในเทวนิยาย อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ โดยมีลักษณะเป็นจุดเด่นได้แก่ ตัวเป็นนก หัวเป็นราชสีห์ มีงวง มีงาเหมือนช้าง แต่มีพละกำลังมากเป็น 5 เท่าของช้าง เนื้อสีแดงเป็นมังสาหารและเป็นพาหนะของผู้มีบุญ แถมบางตำนานยังเล่าว่านกหัสดีลิงค์มีขนาดใหญ่ถึงขนาดบินโฉบเอาช้างไปกินเป็นอาหารได้ทั้งตัว

2. อีกตำนานได้กล่าวว่า

มีนครชื่อนครเชียงรุ้งตักศิลา พระเจ้าแผ่นดินถึงแก่สวรรคต พระมเหสีนำพระบรมศพ แห่แหนไปถวายพระเพลิงนอกเมือง นกหัสดีลิงค์บินจากป่าหิมพานต์มาเห็นเข้า จึงได้โฉบลงแย่งพระบรมศพ พระมเหสีให้หาคนที่จะสู้นก แย่งเอาพระบรมศพคืน มีหญิงสาวชื่อ เจ้านางสีดา เป็นบุตรีของมหาราชครู อาสาต่อสู้นกหัสดีลิงค์ เจ้านางสีดามีวิชายิงศรเป็นเยี่ยม ใช้ศรยิงถูกนกใหญ่ ตกลงมาตาย พระมเหสีจึงให้ประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพร้อมกับนกใหญ่ กลายเป็นธรรมเนียมสำหรับเจ้าฯ ว่า เมื่อถึงแก่อนิจกรรมแล้วให้ทำเมรุรูปนกประกอบหอแก้ว แล้วเชิญศพขึ้นตั้ง ชักลากออกไปบำเพ็ญกุศลครบถ้วน 3 วันจึงเผา ก่อนเผาต้องมีพิธีฆ่านก แล้วเผาทั้งศพทั้งนก

3. คนไทยรู้จักนกหัสดีลิงค์มานานแค่ไหน?

นกหัสดีลิงค์ในภาษาบาลี คือ "หัตดีลิงค์สกุโณ" โดยมีความหมายดังนี้ หัตดี แปลว่า ช้าง, ลิงค์ แปลว่า เพศ, สกุโณ แปลว่า นก แต่ประเทศไทยเลือกใช้คำว่า "หัสดีลิงค์" โดยเริ่มพบในอักขราภิธานศรันท์ ของหมอปรัดเล พิมพ์ พ.ศ.2416 หน้า 328 และพบในปทานุกรม บาลีไทย-อังกฤษ-สันสกฤต ของกรมพระจันทบุรีนฤนาถ ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2513 หน้า 867 หรือแม้ในบาลีสยามอภิธานของนาคะประทีป เรียบเรียงไว้ พ.ศ.2465 ก็มีปรากฏคำนี้อยู่ นั่นแปลว่าคนไทยรู้จักกับนกหัสดีลิงค์มานานมากแล้ว

4. ทำไมนกหัสดีลิงค์ถึงอยู่ในงานศพ

ตามคติความเชื่อของคนโบราณ โดยเฉพาะในแถบภาคเหนือและภาคอีสานที่ได้รับวัฒนธรรมจากล้านนา มีการปฏิบัติตามกันมาว่า เจ้านายและพระเถระนั้นเป็นผู้ได้รับการยกย่องในสังคมว่าเป็นชนชั้นสูง ดังนั้นเมื่อสิ้นชีพไปแล้วจะไปจุติในภพที่สูงกว่า หรือเป็นเทพสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นต่างๆ ของเขาพระสุเมรุ จึงต้องมีการจัดแต่งเพื่อเป็นการไว้อาลัยอย่างสมเกียรติ

5. รายละเอียด สถานที่ฌาปนกิจ

มีการก่อสร้างเขาพระสุเมรุและนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับการประกอบพิธีพระราชทานเพลิง ซึ่งการก่อสร้างที่ทั้งทีมช่างศิลป์จิตอาสา, ทีมคณาจารย์ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมไปถึงประชาชนจิตอาสา และกำลังทหารจาก มทบ.23 ที่ได้ช่วยกันดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ 

โดยโครงสร้างของตัวนกนั้นทำจากไม้เนื้อแข็งสูง 22.6 เมตร ใช้ไม้ไผ่ประกอบเป็นโครงด้านนอก แปะรอบด้วยประติมากรรมกระดาษเปเปอร์มาเช โดยภายในบรรจุเตาเผาฟืนไว้ประดิษบนฐานแปดเหลี่ยมกว้าง 16 เมตร มีตัวนาคหันหน้าไปแต่ละทิศ 12 ตน ความยาว 5 เมตร และรายล้อมด้วยสัตว์หิมพานต์อีก 32 ตน อยู่บริเวณสระอโนดาษ ซึ่งทั้งหมดจะถูกเผาไปพร้อมกับร่างของหลวงพ่อคูณ

6. ก่อสร้างตามประเพณี

รศ.ดร.นิยม วงษ์พงศ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. กล่าวว่า "ในการก่อสร้างนกหัสดีลิงค์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการคงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอีสานและความเชื่อที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งทีมช่างทุกคนนั้นต้องระมัดระวังอย่างมาก จะเห็นได้ว่าเราได้มีการปิดยันต์ที่ตัวนกทั้งหมด 4 จุด คือที่ด้านบนหัวของตัวนกนั้น มีการปิดยันต์ตรีนิสิงเห ด้านล่างติดยันต์จตุโลกบาล ที่ตาปิดด้วยผ้ายันต์ธงชัย ส่วนหางติดยันต์นกคุ้ม เสาเค้าทั้ง 4 ต้น ตัวนก ติดยันต์มงคล โดยผ้ายันต์ที่ใช้ในนกหัสดีลิงค์ในงานของหลวงพ่อคูณนั้น พระครูสีลสาราพรณ์ เจ้าอาวาสวัดป่าศักดิ์ดาราม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นครูช่างนกหัสดีลิงค์ ได้นำมาทำการติดตั้งตามความเชื่อและขนบที่คงไว้มาตั้งแต่โบราณ ขณะเดียวกันยังคงมีการตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระยาแถน เพื่อเป็นมงคลให้กับทีมช่างได้ทำงานไปด้วยความสำเร็จลุล่วงและไม่มีอุปสรรคใดๆ ในการทำงานเพื่อถวายแด่ "หลวงพ่อคูณ"

7. การเข้าชมความสวยงามของนกหัสดีลิงค์

บริเวณฌาปนสถานชั่วคราว วัดหนองแวงพระอารามหลวง ภายในเกาะกลางน้ำ ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น เปิดให้พุทธศาสนิกชน คณะศิษยานุศิษย์ และผู้ที่ให้การเคารพเลื่อมใสศรัทธาใน พระเทพวิทยาคม หรือ "หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ" อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา จำนวนมากเดินทางมาชม "นกหัสดีลิงค์เทินบุษบกบนยอดเขาพระสุเมรุ" แต่ขอให้ประชาชนทุกคนเป็นไปตามระเบียบและประกาศที่ มข.กำหนด คือต้องสำรวม แต่งกายสุภาพ และเดินชมนกฯ ในจุดที่กำหนดไว้เท่านั้น.

ขอบคุณที่มาบางส่วน: Pratinsiri

ที่มา : https://www.thairath.co.th/content/1478731

อ่านต่อ


Total View: 518
Post Date: 28 Jan 2019


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ การเข้าชมเว็บไซต์นี้ต่อไปถือว่าท่านยอมรับคุกกี้บนเว็บไซต์และ  นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งหมดที่ระบุไว้